7 กันยายน 2558

ทางออกของคนบ้างาน (Workaholic)

กระแสหนัง ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ กำลังลงโรง ถ่ายทอดชีวิตของคนบ้างานและโลกของคนชอบอดนอนได้น่าสนใจ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนแข่งกันไม่หลับ เราได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของอาชีพฟรีแลนซ์ที่ไม่ได้อิสระหรือสบาย ยุ่นพระเอกในเรื่อง เป็นคนที่มีบุคลิกเหมือนคน Gen X มีความรับผิดชอบสูง อึด ถึก ทน ทุ่มเท สู้ทุกเดดไลน์ พร้อมตายคางาน ชีวิตของเขาว่างเปล่า โดดเดี่ยว จนน่าสงสาร ยุ่นอาจะเป็นคนสุดโต่งไปหน่อย แต่ก็สะท้อนคำพูดที่ว่า ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน ออกมาได้หม่นเศร้าดี อดไม่ได้ที่จะเอาหัวข้อนี้มาพูดกัน



หากคุณกำลังเข้าข่ายกำลังเป็นคนบ้างาน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายถึงสาเหตุและแนะนำเทคนิคในการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ดังนี้


Q : ในทางจิตวิทยา Workaholic เกิดจากสาเหตุใด

A: มาจากพฤติกรรมของคนที่ชอบทำงานเยอะๆ มีความสุขกับการทำงานเยอะๆ และสะท้อนออกมาในรูปแบบของการเสพติดการทำงาน จิตใจ และความคิดวนเวียนอยู่กับการทำงานตลอดเวลา และเมื่อไหร่ก็ตามที่ว่างเว้นจากงานก็รู้สึกว่าอยากทำอะไร ยิ่งทำก็จะยิ่งวุ่นอยู่กับเนื้องานมากขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุของ Workaholic ส่วนหนึ่งคงมาจากคนคนนั้นๆ เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำมากกว่าสิ่งอื่นใด บางคนอาจมองว่าความสำเร็จในงานเป็นสิ่งที่สะท้อนคุณค่าในตัวเอง เราจะเป็นคนที่มีคุณค่า มีความหมายก็ต่อเมื่อทำงานได้ดี มีความก้าวหน้า บางคนก็อาจทำงานแล้วก็ได้สังคม เพื่อนฝูง ทำแล้วมีความสุข รู้สึกมีความอบอุ่นในใจ ไม่ใช่ความเก่ง แต่เป็นสัมพันธภาพที่ได้จากการทำงาน เราก็ทุ่มเทจริงจังกับงานตรงนี้ แล้วก็ลืมประเด็นอื่นๆ ในชีวิตไป


Q : นอกจากภาวะจิตใจแล้ว คนเป็น Workaholic เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกหรือไม่

A: แม้สาเหตุใหญ่ๆ ของ Workaholic จะเป็นเรื่องของอารมณ์และภาวะจิตใจ แต่ผู้เป็น Workaholicบางคนก็อาจเกิดจากแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตได้ เช่น บางคนก็บ้างานเพื่อหนีจากความทุกข์บางอย่างในใจของตัวเอง ความผิดหวังกับบางเรื่องในชีวิตที่ผ่านมา เกิดความล้มเหลวในชีวิตครอบครอบครัว เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นคนรักงาน ทุ่มเทให้กับงาน โดยไม่ทำให้ชีวิตส่วนตัวเสียหาย ไม่ทำให้สุขภาพของตัวเองมีปัญหาไม่ทำให้สัมพันธภาพในเชิงเพื่อนฝูง หรือญาติมิตรกระทบกระเทือน แบ่งเวลาได้ ก็ทำต่อไป

แต่ถ้าทุ่มเทกับงาน ใช้เวลากับงาน มีความคิดวนเวียน ปล่อยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวห่างเหิน เริ่มไม่รู้ความเป็นไปของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของ Workaholic ในจุดที่ค่อนข้างแย่แล้ว ก็ต้องเริ่มพิจารณาและใส่ใจตัวเองได้แล้ว


Q : คนบ้างานมากๆ จนไม่มีเวลาพักผ่อน กินนอนไม่เป็นเวลา จะแก้ไขตัวเองอย่างไร

A : เราต้องตระหนักรู้ถึงสภาพตัวเองก่อน ตอนนี้ฉันทำงานหนักมาก ไม่ได้กิน ไม่ได้นอนแล้ว สุขภาพเริ่มแย่แล้ว เราก็ค่อยๆ ใช้วิจารญาณในการแก้ปัญหาก่อน ว่าตอนนี้เราทำอะไรที่เกินเลยขนาดไหน ก็ต้องค่อยๆ จัดสรรเวลาแล้วก็รู้จักการควบคุมอารมณ์ตัวเองให้เป็น ควบคุมความอยากที่จะทำงาน อยากที่จะไหลไปเรื่อยๆ ตามกระแสงานที่เรียกร้อง เราก็ต้องยับยั้งชั่งใจให้เป็นว่าช่วงนี้ทำงานมากไปแล้วนะ ช่วงนี้ต้องพักผ่อน เพราะตามปกติแล้วคนทั่วไปควรมีเวลาพักผ่อนวันละประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน จะว่าไปแล้วถ้าใช้คำง่ายๆ ที่เราคุ้นเคยก็คือ การตระหนักรู้ถึงตนเองและการมีสติ วิเคราะห์ปัญหาให้เป็น ก็จะทำให้จัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้

Q : เวลาทำงานมากๆ กลับบ้านแล้วเห็นอะไรก็รู้สึกหงุดหงิดไปหมด จะแก้ปัญหาอย่างไร

A: ต้องรู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น รู้ว่าที่มาปัญหาและอารมณ์เกิดจากอะไร เพราะบ่อยครั้งคนบ้างานมากๆ แล้วไม่ค่อยรู้สึกปล่อยวาง ไม่เคยได้ทำความเข้าใจ แล้วกลายเป็นว่าเอาเรื่องที่หนึ่ง ไปหงุดหงิดใส่เรื่องที่สอง ที่สาม จนกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องไม่รู้จบ บางครั้งอะไรที่ไม่เป็นปัญหาก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมาได้ ฉะนั้นการดูแลตัวเองก็ต้องคู่ขนานไปกับดูแลการทำงานทุกๆ ครั้งด้วย

Q: บ้างานจนสุขภาพย่ำแย่ แต่ก็รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ และหยุดทำงานไม่ได้

A : ระวังเป็นความเข้าใจผิดของตัวเอง ที่หลอกว่างานมีความสำคัญขนาดนั้น บางครั้งเราต้องเข้าใจว่าเรื่องต่างๆ ในโลกนี้ดำเนินต่อไปได้เสมอ ไม่ว่าจะมีเราหรือไม่มีเราก็ตาม มันจะคลี่คลายไปได้เอง แต่เราเข้าใจว่าถ้าไม่มีเรา งานต้องไม่เสร็จแน่ๆ ถ้าเราไม่ทำเพื่อนร่วมงานแย่แน่ๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่หลอกตัวเอง คิดว่าตัวเองมีคุณค่าที่สุด ถ้ามีสติคิดให้ดีๆ ก็รู้ว่ามันไม่ใช่ หมอเตือนสติคนไข้ทุกคนว่าอย่าต้องตายเพราะงานที่เราทำ เราทำงานเพื่อชีวิต ไม่ใช่เอาชีวิตไปทุ่มให้กับงานทั้งหมด แล้วเอางานมาทำร้ายตัวเอง งานจะเป็นงานที่ดีได้อย่างไร



Q: บ้างานแล้วเครียดมากๆ ต้องเอางานไปนอนคิด ไปนั่งทำต่อที่บ้านจนเป็นนิสัย จะแก้ปัญหาอย่างไร

A: หมั่นตรวจสอบอารมณ์ของตัวเองว่าความเครียดที่กระโดดมาเกาะเรานั้น บางทีมันอาจจะมีเงื่อนปมบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่เราละเลยไป บางครั้งเราต้องเบี่ยงเบนตัวเองให้ห่างจากเนื้องานบ้าง นี่คือหลักการของการพักร้อนหรือพักเบรกระหว่างทำงาน เพื่อช่วยให้ความเครียดถูกชะลอลงไป ให้เรามีความพร้อมเผชิญกับสิ่งใหม่ได้

นอกจากจะรู้จักเบี่ยงเบนตัวเองให้ห่างจากเรื่องงานให้เป็นแล้ว ระบบของงานที่ดีก็ช่วยให้ความเครียดคลี่คลายลงได้ เช่น การทำงาน การให้คำปรึกษา ฯลฯ แต่ระบบทั้งหมดทั้งปวงก็คงไม่สำคัญเท่าการที่เรามีความพร้อมในการดูแลตัวเอง บริการจัดการเวลาให้เป็น


Q: ทำงานหนักมากๆ แบ่งเวลาให้ตัวเองไม่ได้ และยังมีปัญหาในครอบครัวด้วย จะทำอย่างไรดี

A : บางครั้งเราบ้างาน ทุ่มเทกับงานโดยที่ไม่ยั้งคิด ถ้าเราสังเกตสักนิดนึงเราจะรู้เลยว่าทำงานไปเพื่อความเครียด ทำงานแบบนี้เราหลงทางแล้วล่ะ ถ้าเราทำงานมากขนาดนั้น เราคงต้องจัดการเวลาใหม่ รายได้ที่หายไปส่วนหนึ่ง ก็อาจจะทำได้ด้วยการลดวัตถุบางอย่างในชีวิตลงไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากำหนดขึ้นมา ที่เราอยากได้ ก็เป็นสิ่งที่เราตั้งขึ้นมาเพื่อกดดันตัวเอง โดยที่ไม่ได้มองความจริงว่าความสมดุลในชีวิตกำลังจะสูญเสียไป

ถ้าเราให้ความสำคัญกับเปลือกนอกของชีวิต เราก็ต้องเบียดเบียนเวลาความสุขของตัวเอง เรื่องง่ายๆ ที่มองเห็น เช่น การยกครอบครัวไปกินข้าวนอกบ้าน ต้องใช้จ่ายเงินเยอะๆ แล้วก็ต้องรีบไปทำงานเพื่อหาเงินอีก แทนที่เราจะไปตลาด ไปซื้อกลับข้าวมาทำกินเองที่บ้าน ก็ประหยัดขึ้น ทำงานน้อยลง แต่มีความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้น



Q: บ้างาน ทุ่มเทให้งานมากๆ แต่บางครั้งงานไม่ประสบความสำเร็จ จะทำอย่างไร

A: คงเป็นไปไม่ได้ที่คนเราทุ่มเทให้กับงาน บ้างานมากๆ แล้วต้องประสบความสำเร็จตลอด มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เส้นทางการทำงาน การเรียนรู้ จะดีมากบ้าง ทำได้ดีน้อยบ้าง หรือบางครั้งก็เกิดความผิดพลาด เราเป็นเด็ก เราหัดเดิน ยังต้องหกล้มเลย แล้วทำงานก็เหมือนกัน เวลาที่เด็กหกล้ม ก็ยังรู้ว่าต้องระวังตรงนั้นระวังตรงนี้ ทุกครั้งของการหกล้ม เด็กก็ได้เรียนรู้ เดินได้ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น

การทำงานก็เหมือนกัน บางครั้งเราผิดพลาด เกิดปัญหา เราก็ต้องมองว่าความล้มเหลวเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคปัญหาที่ทำให้เราแข็งแรงขึ้นในเชิงของการทำงาน ความสำเร็จในชีวิตคนเรามีหลายรูปแบบ เป็นความเจริญก้าวหน้าก็ได้ เป็นความแข็งแกร่งของจิตใจก็ได้



ขอบคุณภาพ : ภาพยนต์ฟรีแลนซ์
เนื้อหา : Kapook.com